7 ทริกเลือกเครื่องทำน้ำอุ่น

เครื่องทำน้ำอุ่น อุปกรณ์ไฟฟ้าสามัญประจำบ้านที่แทบทุกครอบครัวมักจะมีติดห้องน้ำไว้ เพื่อความสุขสดชื่นทุกครั้งที่อาบน้ำในอุณหภูมิคงที่ เพียงแต่การเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นสักเครื่องไม่ใช่แค่หลับตาจิ้มเลือกเครื่องที่ถูกใจ เนื่องจากเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีผลต่อความปลอดภัยในชีวิตขณะที่ใช้งาน 
ก่อนตัดสินใจหยิบเงินในกระเป๋าเพื่อลงทุนซื้อเครื่องทำน้ำอุ่น เราอาจจะต้องไตร่ตรองคิดพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งวิธีการเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นให้ปลอดภัยสบายหายห่วงก็มีด้วยกัน 7 เทคนิค ดังนี้

1, ตรวจสอบสายดินและเบรกเกอร์
ก่อนซื้อหรือติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นเราควรตรวจสอบระบบความปลอดภัยภายในบ้านจนมั่นใจในความพร้อม โดยสายดินที่ถูกต้องควรเดินสายรวมกับสายดินหลัก ซึ่งต่อลงดินที่เมนเบรกเกอร์ของบ้าน แต่ถ้าไม่มีอาจจะต่อสายดินเฉพาะเครื่องทำน้ำอุ่น โดยพยายามหาที่ต่อลงดินให้ลึกพอ

นอกจากนั้น เราควรแยกเบรกเกอร์โดยเฉพาะเครื่องทำน้ำอุ่น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน และควรเป็นเบรกเกอร์ที่มีระบบป้องกันไฟรั่วลงดิน หรือ Earth Leakage Circuit Breaker (ELCB) เพิ่มขึ้นในวงจรไฟฟ้าที่จ่ายไฟให้กับเครื่องทำน้ำอุ่น หรือเปลี่ยน Circuit Breaker ตัวเดิม เป็น ELCB เพื่อเพิ่มความมั่นใจ โดยเบรกเกอร์ ELCB และ ELB เป็นเบรกเกอร์ที่เหมาะสำหรับนำมาใช้ป้องกันเฉพาะตัวเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องทำน้ำร้อน หรือเครื่องทำน้ำเย็น ฯลฯ แต่ ELCB,ELB ไม่เหมาะสำหรับการควบคุมวงจรที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายอย่างรวมกัน

2.เช็กกำลังไฟ
เครื่องทำน้ำอุ่นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการกำลังไฟมาก ซึ่งก่อนเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่น เราควรเช็กกำลังไฟในบ้านของเราจากมิเตอร์ไฟฟ้า เช่น มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 5(15) สามารถใช้เครื่องทำน้ำอุ่นกำลังไฟไม่เกิน 3,500 วัตต์ แต่หากขนาด 15(45) สามารถใช้เครื่องทำน้ำอุ่นกำลังไฟไม่เกิน 4,500 – 6,000 วัตต์ ซึ่งหากเป็นสภาพอุณหภูมิปกติ เช่น กรุงเทพฯและปริมณฑล เราสามารถเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นกำลังไฟประมาณ 3,500-4,500 วัตต์ก็เพียงพอต่อความต้องการและประหยัดค่าไฟฟ้า แต่หากอยู่ในจังหวัดที่มีอากาศหนาว เราอาจจะต้องเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่มีกำลังวัตต์สูงขึ้น เช่น 6,000 วัตต์ เพื่อให้ความร้อนสูงขึ้น

3.ความต้องการใช้งาน
หลักจากสำรวจความพร้อมด้านความปลอดภัยแล้ว เราต้องพิจารณาความต้องการใช้งานเครื่องทำน้ำอุ่น โดยเฉพาะจำนวนสมาชิกในบ้านที่ต้องการใช้งาน ถ้าใช้งานในคอนโดมิเนียมเพียงแค่ 1-2 คน เราสามารถเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นขนาดประมาณครึ่งลิตร แต่หากใช้งานบ่อยจำนวนหลายคนอาจจะต้องเลือกเครื่องขนาดใหญ่ประมาณ 1 ลิตรขึ้นไป เพื่อให้สามารถทำน้ำอุ่นได้ทัน และระบบทำความร้อนไม่ถูกใช้งานมากเกินไป

สำหรับการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นจะแบ่งเป็นแบบ Single Point เครื่องทำน้ำอุ่นจุดเดียว โดยส่วนใหญ่ติดตั้งในห้องน้ำและ Multi Point เครื่องทำน้ำอุ่นแบบหลายจุด คือเครื่องทำน้ำอุ่นแบบที่กระจายน้ำอุ่นไปได้หลายจุดนอกเหนือจากห้องน้ำ เช่น อ่างล้างหน้า อ่างล้างจาน หากเป็นครอบครัวขนาดเล็กที่ต้องการใช้น้ำอุ่นเฉพาะเวลาอาบน้ำ เราควรเลือกใช้เครื่องทำน้ำอุ่น Single Point ติดตั้ง 1 เครื่องต่อ 1 จุด แต่หากเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ที่ต้องการใช้น้ำอุ่นหลายจุดในบ้านควรเลือกเครื่องทำน้ำอุ่น Multi Point สำหรับทำความร้อนหลายจุดพร้อมกันผ่านท่อน้ำร้อนและวาล์วผสมที่ติดตั้งในบ้าน

4.ชนิดของเครื่องทำน้ำอุ่น
เครื่องทำน้ำอุ่นมีหลายประเภทตามวัสดุและแหล่งเชื้อเพลิงให้เลือก ซึ่งการเลือกซื้อควรพิจารณาวัสดุที่ใช้ในการทำหม้อต้ม และเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียที่คุณสามารถรับได้ ยกตัวอย่างเช่น

– หม้อต้มทองแดง มีข้อดีในด้านความทนทานต่อความร้อนจากแรงดันน้ำ ทำให้มีอายุการใช้งานยาวนาน แต่มีราคาแพง
– หม้อต้มพลาสติก ราคาถูกกว่า และให้ความร้อนเร็ว ทำให้ประหยัดพลังงานกว่า แต่อายุการใช้งานไม่คงทน ขณะที่หม้อต้มที่ใช้ขดลวดทองแดงในการให้ความร้อน มีข้อดีในเรื่องการให้ความร้อนเร็ว แต่อุณหภูมิของน้ำร้อนจะไม่คงที่

นอกเหนือจากวัสดุในการทำหม้อต้มที่แตกต่างกันแล้ว เรายังสามารถเลือกแหล่งเชื้อเพลิงที่เครื่องทำน้ำอุ่นใช้ได้ ไม่เฉพาะเค่รื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้าที่ใช้ทั่วไปในครัวเรือน แต่ยังมีเครื่องทำน้ำอุ่นที่ใช้แก๊สธรรมชาติ (เช่น แก็ส LPG) และเครื่องทำน้ำร้อนชนิดใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar energy) ให้เลือกซื้อ

5.ดีไซน์และฟังก์ชั่น
รูปแบบความสวยงามและฟังก์ชั่นการใช้งานของเครื่องทำน้ำอุ่นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจ ซึ่งเครื่องทำน้ำอุ่นรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มักผลิตเพิ่มเติมฟังก์ชั่นให้เลือกหลากหลาย เช่น ฟังก์ชั่นอาบน้ำร้อนสลับเย็นช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และช่วยในเรื่องสุขภาพในลักษณะวารีบำบัด รวมถึงเครื่องทำน้ำอุ่นบางรุ่นได้รับการออกแบบให้อัตราการไหลของน้ำอุ่นสัมพันธ์กับการทำงานของเครื่อง โดยมักจะมีฝักบัวติดมากับเครื่องทำน้ำอุ่นด้วย ซึ่งบางครั้งหากนำเครื่องทำน้ำอุ่นไปต่อกับฝักบัวทั่วไป อาจจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานไม่เต็มที่

6.ประหยัดพลังงาน
นอกจากการเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 ประหยัดพลังงาน เราควรเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่เหมาะสมกับการใช้งานและขนาดเครื่องให้เหมาะกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว โดยควรเลือกใช้หัวฝักบัวชนิดประหยัดน้ำ (Water Efficient Showerhead) เพราะประหยัดน้ำกว่าหัวฝักบัวธรรมดา 25-75% และเลือกใช้เครื่องทำน้ำอุ่นที่มีถังน้ำภายในตัวเครื่อง โดยมีฉนวนหุ้ม เนื่องจากสามารถลดการใช้พลังงานได้ 10-20% ขณะเดียวกันควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้าชนิดที่ไม่มีถังน้ำภายใน เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองการใช้พลังงานในการทำน้ำให้ร้อนตลอดเวลา

7.ความปลอดภัย
อย่าเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่ความสวยงามหรือประหยัดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งานด้วย โดยพยายามเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่มีระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติหากไฟฟ้ารั่ว หากไม่มีระบบป้องกันไฟดูดติดตั้งในตัวเครื่อง อย่างน้อยฝาหลังของเครื่องที่ยึดติดกับฝาผนังควรเป็นโลหะ เพื่อให้ไฟรั่วลงดินผ่านทางฝาหลังไปยังน็อตสกรูที่ยึดติดกับปูนฝาผนัง

นอกจากนั้น เครื่องทำน้ำอุ่นควรมีสวิตช์ควบคุมอุณหภูมิสำหรับตัดไฟเวลาน้ำอุ่นร้อนได้ที่ โดยไม่ควรซื้อเครื่องที่ไม่มีสวิตช์ดังกล่าว เพราะอาจทำให้ไฟไหม้บ้านได้หากเผลอเปิดทิ้งไว้ รวมถึงสวิตช์ควบคุมแรงดันน้ำควรอยู่ในตำแหน่งใต้หม้อต้มน้ำร้อนแบบเยื้องๆ ไม่ใช่ข้างใต้พอดี และสวิตช์ควรมีวัสดุกันน้ำแบบคลุมมิดชิด โดยสังเกตให้ดีว่า หากเกิดกรณีหม้อต้มน้ำร้อนรั่ว น้ำไม่ควรหยัดลงบนสวิตช์ เพราะอาจจะทำให้ไฟฟ้าดูดขณะใช้งานได้ รวมถึงการป้องกันน้ำเข้าไปในระบบของเครื่อง เช่น ฝาครอบ เพื่อไม่ให้น้ำกระเด็นเข้าไปในตัวเครื่อง

ขณะเดียวกันเราควรเลือกขนาดของสายไฟเครื่องทำน้ำอุ่นให้มีขนาดพอดี ด้วยสูตรคำนวณกำลังไฟของเครื่องทำน้ำอุ่นและนำ 1,320 หาร เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น 5,500 วัตต์ หาก 1,320 เหลือ 4.16 ดังนั้น ขนาดของสายไฟที่ใช้ไม่ควรต่ำกว่า 4 SQ.MM. โดยสามารถนำสูตรดังกล่าวคำนวณการเดินสายไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นได้

ที่มา : ddproperty

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *